25 กรกฎาคม 2563 | โดย ปาริชาติ บุญเอก
19
ในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา คนเริ่มตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จากปัญหาสัตว์ทะเลตายและขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะเดือนมกราคม กระแสรักษ์โลกอยู่ในช่วงขาขึ้น จากนโยบายงดแจกถุงพลาสติก
ขณะที่เดือนกุมภาพันธ์ เป็นต้นมา เกิดสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ส่งผลให้การใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากคนเริ่มมีความกังวลใจต่อความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ ร้านอาหารถูกห้ามนั่งรับประทานที่ร้าน ประกอบกับราคาน้ำมันปรับลดลงส่งผลให้ราคาพลาสติกปรับลดลงไปกว่า 30% รวมถึงการปิดกิจกรรม/กิจการ ต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ เกิดการว่างงาน และส่วนหนึ่ง Work From Home ทำให้เริ่มมีการสั่งอาหารเดลิเวอรี่มากขึ้น
ทั้งนี้ การสั่งอาหารเดลิเวอรี่ ก่อให้เกิดขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว มากกว่า 4 ชิ้น ต่อการสั่งอาหารในแต่ละครั้ง ในส่วนของร้านขายอาหาร หลายรายเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ หรือรายเก่าที่รายได้ลดลง จึงทำให้เลือกใช้พลาสติกมากขึ้น เพื่อประหยัดต้นทุน กลายเป็นว่าโฟมและพลาสติกถูกใช้กันจำนวนมากใน 3-4 เดือนที่ผ่านมา
ข้อมูลจาก กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) พบว่า ช่วงโควิด-19 ขยะพลาสติกโดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์พลาสติก เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 15% (จากปริมาณปกติ 5,500 ตันต่อวัน เป็น 6,300 ตันต่อวัน) จากการใช้บริการรับส่งอาหารที่มากขึ้นถึง 3 เท่า เนื่องจากคนส่วนใหญ่ทำงานจากที่บ้านและการหยุดโรงเรียน
นายแพทย์วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) หรือ เกรซ (Gracz) ระบุว่า ในช่วงการระบาดของโควิด-19 คนอาจจะอยู่ในภาวะความกลัว ทำให้ความตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมหายไป แต่สถานการณ์ตอนนี้เริ่มดีขึ้น คนเริ่มเข้าใจมากขึ้น การระบาดของโควิด-19 เริ่มน้อยลง ดังนั้น การตระหนักรู้เริ่มจะกลับมา ประกอบกับหน่วยงานต่างๆ เช่น กรุงเทพมหานคร กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เริ่มออกมาประชาสัมพันธ์ให้ลดใช้พลาสติก เนื่องจากเป็นสาเหตุให้เกิดการหมักหมม และไม่ย่อยสลาย พอสถานการณ์เริ่มนิ่ง ทุกอย่างก็เริ่มกลับมา
เป็นเวลากว่า 1 เดือน ที่ เกรซ ทำงานร่วมกับ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม , กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และ กรุงเทพมหานคร ในการรณรงค์งดใช้โฟมและพลาสติกในอาหารเดลิเวอรี่ และร่วมกับ อุทยานแห่งชาติ ในการรณรงค์งดนำโฟมและพลาสติกเข้าไปภายในอุทยาน ป้องกันการตายของสัตว์จากการกินพลาสติกเข้าไป
นอกจากนี้ การดำเนินธุรกิจของ เกรซ ยังสอดคล้องกับ BCG Model ของรัฐบาลในการพัฒนา 3 เศรษฐกิจ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ไปพร้อมๆ ทั้งในด้านของ “Bio Economy” เนื่องจากเกรส ใช้เยื่อพืชจากธรรมชาติ ซึ่งนำของเหลือใช้จากการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นชานอ้อย ฟางข้าว ผักตบชวา เยื่อสับปะรด โดยรับซื้อจากกลุ่มเกษตรกรที่อยู่ระแวกใกล้ๆ โรงงานใน จ.ชัยนาท ใส่นวัตกรรมใหม่ และเกิดบรรจุภัณฑ์ใหม่ ที่ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
ในส่วนของ Circular Economy ได้มีการหมุนเวียนตั้งแต่ต้นทาง โดยการนำสินค้าเหลือใช้จากการเกษตรมาใช้ประโยชน์ “นายแพทย์วีรฉัตร” อธิบายว่า หากเราไม่ใช้เขาก็นำไปเผาทิ้งกลายเป็น PM2.5 ทั้งนี้ ต้องให้ความสำคัญตั้งแต่กระบวนการผลิต ซึ่งไม่ใช่ไฟฟ้า แต่ใช้ไอน้ำแทน ใช้น้ำมันในการทำให้ความร้อนลดต้นทุนค่าไฟฟ้า ผ่านการผลิตอบด้วยความร้อนมากกว่า 200 องศา ทำให้สะอาด ปลอดภัย ไม่มีปัญหา รวมถึงผ่านการฆ่าเชื้อด้วยแสง UV ก่อนถึงมือผู้บริโภค เมื่อผู้บริโภคใช้แล้วทิ้ง สามารถย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยให้ต้นไม้ได้ภายใน 45 วัน และสุดท้าย สินค้าของเราสามารถใช้ทดแทนโฟม ทดแทนพลาสติก ถือเป็น “Green Economy” ดังนั้น สิ่งที่เราทำ ดีต่อสุขภาพเราและสุขภาพโลก ตอบโจทย์ BCG ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ครบทั้งระบบ
“ผลิตภัณฑ์ของเกรซเป็นกระดาษ 100% ใช้แป้งในการประสาน สามารถย่อยสลายเป็นปุ๋ยให้ต้นไม้ได้ภายใน 45 วัน ไม่ทิ้งภาระให้ลูกหลานในอนาคต ความตั้งใจแรกตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 2548 คือ อยากทำผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เพราะเราเป็นหมอ เรารู้ว่าโฟมและพลาสติกใช้ไปนานๆ โอกาสเสี่ยงที่เป็นโรคจากพลาสติกจะมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ประเทศไทยก็เป็นสังคมเกษตร ของเหลือใช้จากการทำเกษตรเยอะมาก หากนำมาใส่นวัตกรรมเข้าไป นอกจากจะช่วยโลก ยังช่วยเกษตรกรได้อีกด้วย”
แต่สิ่งที่น่าห่วง คือ บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ที่เป็นกระดาษเคลือบพลาสติก เพราะกระดาษย่อยสลายได้ แต่พลาสติกไม่ย่อย กลายเป็นไมโครพลาสติก และเมื่อเข้าไปในร่างกายจะทำลายระบบในร่างกาย ดังนั้น เป็นสิ่งที่ต้องระวัง
นายแพทย์วีรฉัตร กล่าวต่อไปว่า ความจริงแล้วพลาสติกยังมีข้อดีหลายอย่าง โดยเฉพาะคุณสมบัติที่สามารถใช้แล้ว ใช้ซ้ำ และใช้ได้นานๆ ไม่ว่าจะนำไปทำเป็นโต๊ะ เก้าอี้ หรือของห่อหุ้ม แต่ที่น่าห่วง คือ พลาสติกที่ใช้แล้วทิ้ง ซึ่งสร้างปัญหามหาศาล เราใช้แค่ 5 นาที แต่ใช้เวลาย่อยสลายกว่า 450 ปี กลายเป็นปัญหาขยะ ปัญหาไมโครพลาสติกทั่วโลก
“ทุกอย่างบนโลกนี้ ไม่มี All Good ไม่มี All Bad พลาสติกเขามีข้อดีของเขา แต่ใช้ให้เหมาะในสิ่งที่เขาเป็น เอาไปทำผนัง ทำสิ่งห่อหุ้ม ของเล่น หรืออะไรที่ต้องใช้ได้นานๆ แต่อย่าใช้ของที่ถึงมือ 5 นาทีแล้วทิ้ง หากเรายังใช้พลาสติกในวันนี้ เราจะทิ้งภาระให้กับลูกหลาน ทิ้งภาระให้กับปลา เต่า สัตว์ทะเล ช้าง ในวันข้างหน้า ดังนั้น เราจำเป็นต้องทำเพื่อลูกหลานของเรา และต่อไปโรคระบาดต่างๆ อาจจะแพร่มาจากสิ่งของที่เราทิ้งเหล่านี้ ที่หมักหมมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเชื้อโรคกลับมาทำร้ายเราอีก ผมคิดว่าไม่ควรจะทิ้งภาระแบบนี้ แล้วทำให้เกิดปัญหา และให้กลับมาทำร้ายเรา” นายแพทย์วีรฉัตร กล่าวทิ้งท้าย
"บรรจุภัณฑ์" - Google News
July 25, 2020 at 06:45AM
https://ift.tt/2D7DTEV
บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ช่วยโลก ช่วยเกษตรกร - กรุงเทพธุรกิจ
"บรรจุภัณฑ์" - Google News
https://ift.tt/3eLJ9eX
No comments:
Post a Comment